สมุนไพรบำบัดโรคได้อย่างไร

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แนวคิดในการบำบัดด้วยสมุนไพรนั้น แตกต่างจากการบำบัดด้วยยาแผนปัจจุบันหลายอย่าง เนื่องจากเป้าหมายของการใช้ยาสมุนไพร อยู่ที่การกระตุ้นร่างกายให้ปรับตัวเองสู่สมดุลปกติ มากกว่าจะแก้อาการของโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเท่านั้น เช่น แพทย์แผนปัจจุบันจะแนะนำให้ทานยาลดไข้ เช่น แอสไพริน พาราเซตามอล แต่หมอยาสมุนไพรจะเห็นว่าบางครั้งอาการไข้ที่เกิดขึ้นก็มีประโยชน์ เพราะเป็นกลไกป้องกันโรคตามธรรมชาติของร่างกาย ความเชื่อเช่นนี้ได้รับการสนับสนุนจากการค้นพบว่า เชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่ก่อโรคหลายชนิด จะถูกทำลายเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ วิธีปฏิบัติของหมอยาสมุนไพรเมื่อผู้ป่วยเป็นไข้คือ กระตุ้นให้เหงื่อออกโดยไม่ทำให้ไข้ลดลง และอาจให้ยาเพื่อป้องกันไม่ให้ไข้สูงเกินไปจนเป็นอันตรายได้
เช่นเดียวกับกรณีอาหารเป็นพิษ หมอยาสมุนไพรจะเห็นว่าอาการอาเจียนและท้องเสีย ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกลไกตอบสนองที่มีประสิทธิภาพของร่างกายคือ ทำให้ร่างกายสามารถกำจัดจุลชีพที่เป็นอันตราย ออกจากทางเดินอาหารได้โดยเร็วที่สุด จะเห็นได้ว่าการรักษาเช่นนี้ แตกต่างจากหมอแผนปัจจุบันที่มักให้ยาแก้ท้องเสียและยาแก้อาเจียน โดยหมอยาสมุนไพรจะเน้นเพียงควบคุมอาการที่เกิดขึ้น ด้วยการใช้สมุนไพรที่ยับยั้งการดูดซึมของทางเดินอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวการที่ทำให้เกิดพิษถูกดูดซึม และไหลเวียนเข้าสู่กระแสโลหิต และแม้ว่าหมอยาสมุนไพรจะแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ เช่นเดียวกับหมอแผนปัจจุบันแต่ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ หมอยาสมุนไพรจะไม่ให้ยาที่มีผลยับยั้งอาการท้องเสีย และอาการอาเจียนนั้นหายขาดในทันที

0 comments:

แสดงความคิดเห็น